“สี จิ้นผิง” กับความพยายามพาฟุตบอลจีนไประดับโลกที่ยังล้มเหลว

แทงบอลออนไลน์

“สี จิ้นผิง” กับความพยายามพาฟุตบอลจีนไประดับโลกที่ยังล้มเหลว

“เรามีประชากร 1.4 พันล้านคนในจีน แต่เราไม่สามารถหานักฟุตบอล 11 คนที่สามารถพาทีมผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก มันเป็นความน่าอายมาก” คอมเมนต์หนึ่งใน Weibo โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของจีน   

เป็นอีกครั้งที่ฟุตบอลโลกของทีมชาติจีนต้องหลุดลอยไป เมื่อพวกเขาจบในอันดับรองบ๊วยของรอบคัดเลือกรอบสุดท้าย และเอาชนะคู่แข่งได้เพียงแค่นัดเดียว พลาดสิทธิ์ไปโชว์ฝีเท้าในกาตาร์ 2022 แบบไม่ได้ลุ้น 

ผลงานดังกล่าวช่างห่างไกลจากเป้าหมายที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศไว้เมื่อ 10 ปีก่อน ที่ตัวเขามีเป้าหมาย 3 อย่าง : พาจีนไปฟุตบอลโลก, เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และคว้าแชมป์โลก  

แต่วันนี้มันยังมาไม่ถึง ทั้งที่พวกเขาทุ่มทรัพยากรให้กับมันอย่างเต็มที่ เพราะอะไร ?  ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ฝันสูงสุดของ สี จิ้นผิง 

ในอดีตฟุตบอลอาจจะไม่ใช่กีฬายอดนิยมของจีน แต่ไม่ใช่สำหรับ สี จิ้นผิง ตัวเขาคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังมาตั้งแต่ยังหนุ่ม และเป็นหนึ่งในสักขีพยานในเกมที่วัตฟอร์ตบุกถล่มทีมชาติจีน 5-1 เมื่อปี 1983 

ในปี 2011 หรือสองปีก่อนที่เขาจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของจีน เขาบอกกับนักการเมืองเกาหลีใต้ว่าเขามีความปรารถนาอยู่ 3 อย่าง นั่นคือพาจีนไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย, เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และคว้าแชมป์โลก 

รัฐบาลจีนก็เล็งเห็นศักยภาพทางการเงินในตลาดฟุตบอลของจีนเหมือนกัน โดยแนวทางนโยบายในปี 2014 คาดการณ์ว่าตลาดฟุตบอลของจีนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 42 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,460 ล้านบาท) ภายในปี 2025 

ทำให้ในปี 2015 พวกเขาได้พวกเขาได้ปล่อยแผนยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ฟุตบอลเป็นกีฬาประจำชาติของจีน โดยมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อสร้างนักเตะไปเล่นฟุตบอลโลกในอนาคต

 

ภายใต้นโยบายดังกล่าว รัฐบาลจีนกำหนดว่าทุกโรงเรียนจะต้องมีฟุตบอลอยู่ในหลักสูตรพละศึกษา และมุ่งที่จะเพิ่มจำนวนโรงเรียนที่มีสนามฟุตบอลจาก 5,000 โรงเป็น 50,000 โรงภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันทีมชาติจีนไปโชว์ฝีเท้าในเวิลด์คัพรอบสุดท้ายให้ได้ 

“เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของฟุตบอลจีนคือมีทีมอยู่ในระดับชั้นนำของโลก” สี จิ้นผิง กล่าวเมื่อปี 2015 

นอกจากนี้ในปี 2016 สมาคมฟุตบอลจีน (CFA) ยังได้ทุ่มเงินมหาศาลดึง มาร์เชลโล ลิปปี โค้ชชาวอิตาลี ที่เคยพาทีมบ้านเกิดของเขาคว้าแชมป์โลกมาแล้วในปี 2006 มากุมบังเหียนทีมชาติจีนชุดใหญ่ รวมถึงดึงตัวนักเตะลูกครึ่งอย่าง นิโก ยานาริส อดีตแข้งอาร์เซน่อล, จอห์น ฮู แซเตอร์ อดีตเยาวชนนอร์เวย์ ไปจนถึงนักเตะโอนสัญชาติ เอลเคสัน แข้งบราซิลแท้ มาเล่นให้ขุนพลแดนมังกร 

ขณะเดียวกันพวกเขายังได้ปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อทำให้วงการฟุตบอลจีนมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น หลังต้องติดภาพอยู่กับความอื้อฉาวในด้านการทุจริตและการล้มบอลมาอย่างยาวนาน

 

“มันมีความหวังและความมั่นใจอย่างมากเกี่ยวกับฟุตบอลในตอนนั้น” ฉี เผิง ศาสตราจารย์ด้านการจัดการและนโยบายกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน กล่าวกับ ABC News

“คนวงในเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นอีกโอกาสครั้งใหญ่สำหรับวงการฟุตบอลจีนที่จะพัฒนา เนื่องจากรัฐบาลได้จัดความสำคัญของฟุตบอลในฐานะกลยุทธ์ระดับชาติ” 

และช่วงแรกก็เหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี 

ไชนีสซูเปอร์ลีกบูม 

หลังปี 2015 ฟุตบอลจีนก็มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด แต่ท่านประธานาธิบดี สี ไม่ได้หยุดแค่นั้น เมื่อในปี 2016 เขาได้ปล่อยแผน Great Football Dream ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน China Dream ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้จีนได้รับการยอมรับในเวทีสากล 

“ชัยชนะของฟุตบอลสำหรับจีนจะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของพวกเขาตลอด 150 ปีที่ผ่านมาในการทำให้ทันสมัย เท่าเทียม และบางทีอาจจะเหนือกว่ามหาอำนาจของโลกที่เคยดูถูกพวกเขา” เคอร์รี บราวน์ และ เลย์น ฟานเดอร์เบิร์ก กล่าวในบทความ

ความฝันอันยิ่งใหญ่ของผู้นำจีนยังได้ส่งเสริมการลงทุนอย่างมากมายและทำให้บริษัทชั้นนำของพวกเขากระโดดเข้ามาร่วมวงในธุรกิจนี้ รวมไปถึง Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกออนไลน์ของจีน

 

และมันก็ทำให้วงการฟุตบอลของพวกเขาก้าวหน้าอย่างสุดขีด โดยเฉพาะ ไชนีสซูเปอร์ลีก ลีกอาชีพของจีน ที่มียอดผู้ชมเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 18,986 คนในปี 2014 เป็น 22,193 คนในปี 2015 และปี 2018 พวกเขาก็มียอดแฟนบอลเฉลี่ยสูงถึง 24,053 คน มากกว่าลีกเอิงของฝรั่งเศสในปีเดียวกัน 

ในปี 2018 มีการคาดการณ์ว่าแฟนบอลจีนทั่วประเทศน่าจะมีมากถึง 187 ล้านคน และซูเปอร์ลีกของจีนน่าจะมีรายรับในปีดังกล่าวอู้ฟู่ถึง 3,340 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 116,111 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเม็ดเงินที่มหาศาลยังสามารถดึงดูดนักเตะต่างชาติเข้ามาโกยเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2016-2017 ซึ่งเป็นช่วงที่ลีกของพวกเขาบูมสุดขีด มีรายงานว่าลีกจีนใช้เงินซื้อนักเตะรวมกันไปกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 14,000 ล้านบาท) 

มันทำให้ ไชนีสซูเปอร์ลีก คับคั่งไปด้วยสตาร์ดังจากยุโรปและบราซิล ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลอส เตเบซ กองหน้าทีมชาติอาร์เจนตินา ที่มาร่วมทัพ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว เมื่อปี 2016 พร้อมรับค่าเหนื่อยสูงถึง 615,000 ปอนด์ต่อเดือน (ราว 26 ล้านบาท) และกลายเป็นนักเตะที่มีเงินเดือนสูงที่สุดในโลกในตอนนั้น

 

หรือ ออสการ์ ที่ย้ายจาก เชลซี มาร่วมทัพ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี (ปัจจุบันคือเซี่ยงไฮ้ พอร์ต) เมื่อปี 2017 และรับค่าเหนื่อยสูงถึง 106 ล้านเหรียญต่อปี หรือราว 8.8 ล้านเหรียญต่อเดือน (ราว 305 ล้านบาทต่อเดือน) 

รวมไปถึง มาร์เร็ค ฮัมซิค อดีตแข้งนาโปลี, เปาลินโญ แข้งทีมชาติบราซิล, ดิดิเยร์ ดร็อกบาร์ อดีตดาวยิงเชลซี, เดมเบ บา และ ปาปิส ซิสเซ สองแข้งจากนิวคาสเซิล รวมถึง อเล็กซ์ วิตเซลล์ ที่ค้าแข้งอยู่กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปัจจุบัน 

แน่นอนว่าระบบเยาวชนของจีนก็เดินหน้าไปพร้อมกัน เห็นได้จากโรงเรียนที่มุ่งเน้นด้านฟุตบอลโดยเฉพาะมีจำนวนเพิ่มจาก 5,000 โรงในปี 2016 เป็น 27,000 โรงในปี 2019 ขณะที่สนามฟุตบอลกว่า 40,000 แห่งก็ได้รับการปรับปรุง รวมถึงโค้ชหลายพันคนที่ได้รับการอบรม 

คาดการณ์กันว่าภายในปี 2025 จะมีนักเรียนจีนมากกว่า 50 ล้านคนที่ได้รับการฝึกฝนด้านฟุตบอล และจะทำให้พวกเขามีทรัพยากรอย่างล้นเหลือในการพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นทีมชั้นนำของเอเชียหรือบางทีอาจจะแถวหน้าของโลก 

อย่างไรก็ดีจนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นเพียงภาพลวงตา

ฟองสบู่ที่เริ่มแตก 

เม็ดเงินลงทุนที่ไหลบ่าอาจจะทำให้วงการฟุตบอลของจีนคึกคัก แต่มันก็เป็นดอกไม้ไฟที่สว่างเพียงชั่วพริบตา เมื่อไม่นานรายได้ที่ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายก็ทำให้พวกเขาเริ่มมีปัญหา  

จากการรายงานของสมาคมฟุตบอลจีนระบุว่าในฤดูกาล 2018 สโมสรทั้ง 16 ทีมใช้ไชนีสซูเปอร์ลีก มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมากถึง 1,100 ล้านหยวน (ราว 5,600) ล้านบาท แต่มีรายรับเฉลี่ยแค่เพียง 686 ล้านหยวน (ราว 3,500 ล้านบาท) หรือน้อยกว่ากันเกือบครึ่งต่อครึ่ง 

“ค่าใช้จ่ายของสโมสรใน CSL เป็น 10 เท่าของเคลีก เกาหลีใต้ และ 3 เท่าของเจลีก ของญี่ปุ่น” เฉิน ซูหยวน ประธาน CFA กล่าว

ผลพวงดังกล่าวทำให้ในปี 2020 CFA จึงได้ออกกฎกำหนดเพดานเงินเดือนของนักเตะต่างชาติที่ทำให้แต่ละทีมต้องลดเงินเดือนสตาร์ของพวกเขาให้เหลือไม่เกิน 4.41 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งน้อยกว่าเดิมที่เคยได้รับกันอยู่หลายเท่า 

นอกจากนี้พวกเขายังถูกซ้ำเติมจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 จากการเป็นประเทศต้นตอของการระบาด ที่ไม่เพียงจะทำให้สโมสรขาดรายได้แล้วแต่ยังทำให้เหล่านายทุนของพวกเขาต่างประสบปัญหาทางการเงิน 

เมื่อปี 2021 บริษัท ไชนา เอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน เกือบล้มละลายจนทำให้พวกเขาต้องถอนทุนสนับสนุน กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ เช่นกันกับ ซู่หนิง ที่ถอนทุนจาก เจียงซู ซู่หนิง จนทำให้สโมสรต้องยุบทีมในท้ายที่สุด 

สื่อของจีนยังรายงานว่าเมื่อฤดูกาล 2021 สโมสรของจีนกว่าครึ่งไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้แก่นักเตะ เนื่องมาจากปัญหาทางการเงิน และในปี 2022 ชิงเต่า เอฟซี ก็กลายเป็นทีมดังทีมล่าสุดที่ประกาศถอนทีม

ไม่ต่างจากทีมชาติ เพราะแม้ว่า กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ตัวแทนจากจีนจะสามารถก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์สโมสรระดับเอเชียได้ถึง 2 สมัย แต่ ขุนพลมังกร กลับมีผลงานที่น่าผิดหวังโดยเฉพาะการพลาดเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายใน 2 ครั้งหลังสุด 

“แน่นอนว่าผมไม่แฮปปี้เลย ไม่มีแฟนบอลคนไหนหรือทีมไหนที่จะยอมรับกับผลงานที่เลวร้ายของทีมชาติเช่นนี้” ฉูฮัง ยี่ นักศึกษาวัย 23 ปีที่ตามเชียร์ทีมชาติจีนมาตั้งแต่อายุ 14 กล่าวกับ ABC News 

แถมในรอบคัดเลือก 2022 ทีมชาติจีนแทบไม่ได้ลุ้น หลังจบในอันดับรองบ๊วยของกลุ่ม คว้าชัยได้เพียงแค่เกมเดียว และแพ้ไปถึง 6 นัด จนทำให้โซเชียลมีเดียของพวกเขาต้องลุกเป็นไฟ

“เรามีประชากร 1.4 พันล้านคนในจีน แต่เราไม่สามารถหานักฟุตบอล 11 คนที่สามารถพาทีมผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก มันเป็นความน่าอายมาก” คอมเมนต์หนึ่งใน Weibo โซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของจีน 

แนวทางของพวกเขาผิดพลาดตอนไหน ?

วัฒนธรรมแบบจีน 

หลังจากพลาดโอกาสไปโชว์ฝีเท้าที่กาตาร์ เผิง เสี่ยวถิง อดีตกัปตันทีมชาติจีนบอกว่าทีมชาติของพวกเขาน่าจะยังต้องเจองานหนักในการจะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 2026 หรือบางทีอาจจะลากยาวไปจนถึง 2030 

“เยาวชนของเรายังไม่ดีพอ” อดีตกองหลังกว่างโจว กล่าวกับ ABC News 

ด้าน ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านกีฬาแห่ง Emlyon Business School และผู้อำนวยการศูนย์อุตสาหกรรมกีฬายูเรเซีย บอกว่าวงการฟุตบอลจีนยังคงขาดการส่งต่อนักเตะฝีเท้าดีแบบรุ่นต่อรุ่น 

เขาบอกว่าแม้ว่าจีนจะมีฐานแฟนฟุตบอลที่ใหญ่มาก แต่มันยังเป็น “กีฬาชนกลุ่มน้อย” ที่ได้รับความสนใจ เมื่อเทียบกับ เทเบิล เทนนิส, แบดมินตัน หรือแม้กระทั่งบาสเกตบอล 

“ฟุตบอลเป็นเกมของประชาชน บางคนบอกว่าเป็นเกมระดับโลก แต่ในความเป็นจริงผมคิดว่าจีนไม่ได้เล่นเกมของประชาชน หรือเกมของโลกได้ดีเป็นพิเศษ” แชดวิค กล่าวกับ ABC News

“มันมีรายละเอียดบางอย่างซึ่งขัดขวางการพัฒนาฟุตบอลของจีนในแบบที่เราเห็นในที่อื่นของโลก” 

แชดวิค กล่าวว่าทัศนคติของผู้ปกครองที่กังขาเมื่อลูกของพวกเขาบอกว่าอยากจะเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพยังมีอยู่มาก ต่างจากญี่ปุ่นหรือตะวันตกที่มักจะให้การสนับสนุนบุตรหลานของพวกเขาอย่างเต็มที่ 
ยิ่งไปกว่านั้นระบบการศึกษาของจีนที่ให้ทุกคนคิดอยู่ในกรอบในแบบที่รัฐบาลกำหนดได้กลายเป็นอุปสรรคการสร้างผู้เล่นพรสวรรค์ที่จะสามารถต่อกรกับชาติชั้นนำของโลกได้ 

“เป็นที่รับรู้ในวงกว้างว่านักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่จะมีความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นตัวของตัวเองมาก และพวกเขาก็เก่งมากในการตัดสินใจเรื่องส่วนตัวและการประเมินตัวเอง” ศาสตราจารย์แชดวิค กล่าวต่อ 

“ผมคิดว่าระบบการศึกษาของจีนไม่ได้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาซอฟต์สกิลที่นักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมี” 

บวกกับการที่รากฐานที่ไม่มั่นคงของสโมสรในจีน เนื่องจากสโมสรส่วนใหญ่ถือกำเนิดมาจากหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทจึงไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับท้องถิ่นและทำให้ยากที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน 

“เหตุผลสำคัญรากฐานของวงการฟุตบอลจีนนั้นอ่อนแอเกินไป” หม่า เต้อซิง นักข่าวผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟุตบอลจีนมากว่า 30 ปี กล่าวในบทความของตัวเอง 

“ดังนั้นการอยู่รอดของสโมสรอาชีพจีนจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มทุนหรือบริษัทโดยตรง เมื่อสโมสรหรือกลุ่มทุนมีปัญหาสโมสรก็ยากที่จะอยู่ได้” 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแทรกแซงจากตัวรัฐบาลจีนเอง ที่นอกจากเรื่องเพดานค่าเหนื่อยนักเตะต่างชาติแล้วยังมีเรื่องภาษีการย้ายทีมของนักเตะต่างชาติที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2017 ที่สูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ 

หรือล่าสุดคือออกกฎห้ามใช้ชื่อสปอนเซอร์ในชื่อทีมที่ทำให้ทุกทีมต้องเปลี่ยนชื่อไปตาม ๆ กัน ซึ่งแม้จะเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมฟุตบอลแต่มันก็กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับนักลงทุนบางคนจนถอนเงินสนับสนุนออกไปเช่นกัน 

“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่กระทบใจผมเรื่องฟุตบอลจีนคือการเข้ามาแทรกแซงอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลผ่านเจ้าหน้าที่ของรัฐ” แชดวิค อธิบาย 

“สำหรับผม ดูเหมือนว่าทางการจีนจะเรียนรู้ได้ว่าคุณภาพหรือมาตรฐานของฟุตบอลจีนนั้นไม่ดีขึ้นเลย ด้วยวิธีการจ้างผู้เล่นต่างชาติ”

ความฝันที่ยังไม่สำเร็จ 

แม้ปลายทางข้างหน้ายังคลุมเครือ แต่ หลิว อี้ เลขาธิการของ CFA บอกว่าพวกเขายังอยู่ในแผนระยะยาว และยังคงมีความทะเยอทะยานที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก รวมถึงคว้าแชมป์โลกอยู่ 

ขณะที่ The Shanghai Observer สื่อของจีนกล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ฟุตบอลจีนต้องแก้ไขคือการทิ้งโมเดลที่มีเจ้าของสโมสรเพียงคนเดียวทิ้ง มาใช้ระบบผู้ถือหุ้นที่ประกอบไปด้วยรัฐบาล, บริษัท, ชุมชน หรือบุคคล 

“สโมสรในซูเปอร์ลีกไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการรับเลือดจากสโมสรแม่เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องทำให้สปอนเซอร์สนใจมาสนับสนุน, หารายได้จากเกมการแข่งขัน หรือปรับปรุงตลาดซื้อขายให้ดีขึ้น” บทความระบุ 

จนถึงตอนนี้ความฝันที่ใกล้เคียงที่สุดของพวกเขาคือการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่คงต้องรอไปอย่างน้อยหลังปี 2034 เพราะกาตาร์ ชาติในเอเชียเพิ่งจะได้โควตาไป ทำให้พวกเขาต้องหมดสิทธิ์อย่างแน่นอนในปี 2030  

อย่างไรก็ดีกว่าจะถึงวันนั้น แผนงานที่พวกเขาได้วางเอาไว้อาจจะเริ่มตกผลึก และบางทีหลังจากปี 2035 พวกเราอาจจะเห็นขุนพลมังกรไปยืนในจุดที่พวกเขาฝันเอาไว้ หากพวกเขาเรียนรู้ความความผิดพลาดในอดีตและเดินไปอย่างถูกทาง  

“การผนวกฟุตบอลเข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียนแสดงให้เห็นถึงการไหลไปของผลประโยชน์จากการลงทุนของจีนในด้านกีฬา ซึ่งจะตอบแทนพวกเขาไปอีกนาน” ไซมอน แชดวิค กล่าวกับ DW 

“ในสนามเราจะเห็นความคืบหน้าบางอย่างในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ แม้จะดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่เราจะได้เห็นอันดับของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนปี 2035 ก็ตาม” 

“แน่นอนว่ามันขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของประเทศว่าจะเดินไปอย่างถูกทางหรือไม่”  

 

แทงบอลออนไลน์

วิเคราะห์บอลล่าสุด

ข่าวล่าสุด